“คิดงานไม่ออกเลย วันนี้เหมือนไม่ค่อยได้อะไรเลย รู้สึกแย่จัง”
“หมดไฟสุด ๆ วันนี้งานจะเสร็จมั้ยเนี่ย”
หากคุณกำลังมีวันทำงานที่ต้องพูดแบบนั้นอยู่บ่อย ๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟ หรือที่เรียกติดปากกัน ว่า อาการเบิร์นเอาท์นั่นเองค่ะ
ซึ่งการหมดไฟในการทำงาน หรือเบิร์นเอาท์นั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนส่วนมากในปัจจุบันที่ต้องทำงานอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวออฟฟิศวัยหนุ่มสาว แล้วหลาย ๆ คนเองก็คงไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไรเมื่อเกิดอาการหมดไฟ เพราะบางคนก็มีงานเร่งรอเดดไลน์ หรือบางคนก็อาจจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างหนักเพื่อไปสู่เป้าหมาย จนไม่ได้โฟกัสกับความรู้สึกและหัวใจของตัวเองเลย
แต่แท้จริงแล้วการจัดการกับสถานการณ์หมดไฟในการทำงาน ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคนเช่นกัน เพราะเมื่อเราแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ มันจะทำให้เราได้กลับไปทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองได้อีกด้วย วันนี้เราก็เลยจะมาพาทุกคนไปพบกับการจัดการกับปัญหาหมดไฟไปด้วยกันค่ะ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าตอนนี้ ทุกคนคงจะสงสัยว่า แล้วผู้ที่กำลังเผชิญอยู่กับช่วงหมดไฟจะมีอาการทางกาย และทางจิตใจอย่างไรบ้าง เรามาดูไปพร้อม ๆ กันทีละข้อเลยดีกว่าค่ะ จะได้มาสังเกตอาการไปด้วยกันว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับอาการหมดไฟหรือไม่
สำหรับอาการของคนหมดไฟ จะมีทั้งอาการทางกาย และอาการทางจิตใจ โดยอาการที่เราจะพูดถึง มีดังนี้
- อาการทางกาย สูญเสียพลังงานหรืออ่อนเพลีย (Exhaustion)
นอนไม่หลับ ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย หมดแรง ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ภูมิตก ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการจำลดลง
- อาการทางอารมณ์ รู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ (Negativism)
รู้สึกเบื่อ ไม่มีความสุข หดหู่ ไม่มีชีวิตชีวา สิ้นหวัง ไม่มีแรงจูงใจ อารมณ์แปรปรวน โกรธ หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้าย ไม่สนใจความรู้สึกผู้อื่น มีความขัดแย้งระหว่างบุคคลมากขึ้น สงสัยในความสามารถของตัวเอง
- อาการทางพฤติกรรม ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง (Professional Efficacy )
มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนน้อยลง แยกตัวออกจากกลุ่ม หมกมุ่นอยู่กับการทำงาน ไม่กระตือรือร้น ผัดวันประกันพรุ่ง บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไปจนถึงมีการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์
ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลพญาไท
หลังรู้อาการเบื้องต้นกันแล้ว ทีนี้เรามาดูวิธีการแก้ปัญหากันบ้าง ว่าถ้าเกิดเราหมดไฟแล้วจะทำอย่างไรได้บ้าง แล้วการแก้ปัญหานี้มันยากหรือง่ายแค่ไหน เราก็ขอบอกเลยนะคะว่าการแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลยสักนิดค่ะ เพราะเราสามารถจัดการได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ด้วยวิธีดังนี้ค่ะ
หยุดพักและพักผ่อน: ความเมื่อยล้าบ่อยครั้งมักมีการเกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานหนักเกินไป ให้พิจารณาให้เวลาพักผ่อนให้เพียงพอ อาจจะเป็นการหยุดพักชั่วคราวหรือการทำกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย เช่น การอ่านหนังสือ เล่นเกม หรือการออกกำลังกาย
กำหนดเวลาพักในการทำงาน: หากคุณเป็นคนที่เครียดกับการทำงานมากเกินไป เราขอแนะนำว่าให้พยายามจัดเวลาพักที่สม่ำเสมอในช่วงทำงาน อย่างเช่น จัดสรรเวลาการทำงานตามกำหนด และพักทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เราได้ผ่อนคลายจากความเครียดและความกดดันในการทำงาน
ปรับแต่งรูปแบบการทำงาน: คุณกดดันกับการทำงานมากเกินไปรึเปล่า ลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานดูมั้ย ถ้าอยู่หน้าจอคอมตลอด 8 ชั่วโมงอาจจะไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ คุณควรเปลี่ยนมาพักแบบสั้น ๆ อาจจะไม่ต้องถึง 1-2 ชั่วโมงก็ได้นะ แค่ลองพักจากแสงสีฟ้าและความเครียดจากการทำงานดูบ้าง
พูดคุยกับคนรอบข้าง: การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการผ่อนคลายจากความเครียด เอาล่ะ คุณลองลุกขึ้นจากเก้าอี้ แล้วลองไปคุยกับพวกเขาดูสิ
การจัดการเวลา: การจัดการเวลาช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสามารถในการทำงาน ลองใช้ปฏิทิน หรือนาฬิกาจับเวลากันเถอะ
ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพ: การออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพที่ดีช่วยลดความเครียดและเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายและจิตใจ
พิจารณาเปลี่ยนงานหรือลดภาระงาน: ถ้าคุณพบว่าภาระงานเป็นส่วนใหญ่ของปัญหา burnout ลองเปลี่ยนงานดูมั้ยล่ะ บางทีคุณอาจจะเจอสิ่งที่ใช่สำหรับคุณมากกว่านี้ก็ได้นะ
การหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ: ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณไม่สามารถจัดการกับ burnout ด้วยตัวเอง คุณอาจต้องลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ดู เพราะพวกเขาอาจช่วยให้คุณผ่านพ้นจากปัญหาดังกล่าวไปได้
สุดท้ายนี้ อย่าลืมกันนะคะว่าการรักษาหัวใจตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่าลืมดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เพื่อให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพักผ่อนร่างกายกับจิตใจ เพื่อจะได้แบ่งปันเวลาให้กับสิ่งที่ตัวเองชอบกันด้วยนะคะ
+ There are no comments
Add yours