“พวกผู้ชายน่ะ เขาไม่ชอบผู้หญิงแบบเธอหรอก เขาชอบผู้หญิงแมนๆแบบฉันนี่”

เคยได้ยินเพื่อนๆของคุณหรือคนรู้จักพูดอะไรแบบนี้ใส่คุณบ้างหรือเปล่า หากมี พวกเขาอาจมีแนวโน้มว่าจะเป็นพวก Internalize Misogyny แม้ว่าการเหยียดผู้หญิงด้วยกันเองจะเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงจากเจ้าของเว็บบทความยักษ์ใหญ่มากมาย แต่ผู้เขียนขอนำเรื่องนี้กลับมาพูดอีกครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าหยิบขึ้นมาพูดเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้ตื่นรู้อีกครั้ง รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีก่อนๆ เราจะได้เห็นว่ามีผู้หญิงถูกเหยียดมากมายทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด คงจะผิดก็เพียงแค่พวกเธอมีพฤติกรรมที่เรียกว่าเป็น “ผู้หญิ๊ง ผู้หญิง” มากเกินไปสำหรับคนที่เหยียดผู้หญิงเท่านั้นเอง

Internalize Misogyny การเหยียดผู้หญิงด้วยคำเหน็บแนมที่สื่อถึงการดูถูกเหยียดหยามผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความเฟมินีน หรือเรียกได้ว่าเป็นผู้หญิงที่แต่งตัวหวานแหวว แอ๊บแบ๊ว หรือผู้หญิงที่แต่งตัวเซ็กซี่ พวกเธอจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการที่พบเห็นผู้หญิงที่ทำตัวแบบผู้หญิ๊ง ผู้หญิง ทำให้ต่อมการอยากด่าเริ่มทำงาน จนสุดท้ายแล้วเธอก็เริ่มไล่นิ้วลงบนแป้นพิมพ์ พร้อมกับสาดคำก่นด่าอย่างสนุกสนาน เพียงเพราะแค่อีกฝ่ายทำตัวเหมือนผู้หญิงมากเกินไปจนทำให้เธอเกลียด

“แรด”

“เพราะแบบนี้ไงผู้ชายถึงไม่ชอบ ทำตัวง่าย”

แนวคิดการเหยียดเพศหญิงด้วยกันนั้นถูกส่งต่อมาเรื่อยๆจนถึงยุคปัจจุบัน จบที่ผู้หญิงก็ยังเป็นเหยื่อของการโดนก่นด่าบนโลกออนไลน์อยู่เสมอ และหากคุณเป็นผู้ช่ำชองเรื่องไวรัลในโลกโซเชี่ยลอยู่บ้าง คุณอาจทันได้เห็นสมาชิก BNK48 ถูกก่นด่าจากชาวเน็ต เมื่อปี 63 ที่สมาชิกวง BNK48 ตอบปริศนาผิด เธอเลือกใช้คำว่า “อ๊บไสไม้” ด้วยความไม่รู้ แต่นั่นกลายเป็นว่าเธอกลับถูกด่าจากชาวเน็ตอย่างรุนแรง พวกเขากล่าวหาว่าเธอเป็นสาวแอ๊บแบ๊วและแกล้งทำเป็นไม่รู้ ทั้งที่จริงแล้วเธอไม่รู้จริงๆ

เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน และไม่เพียงสาวหวานสาวแอ๊บแบ๊วเท่านั้นที่ถูกก่นด่า แม้แต่สาวที่ชอบแต่งตัวดูเซ็กซี่ก็เป็นเหยื่อถูกด่าเช่นเดียวกัน อย่างเช่นกรณี เบียร์ The Voice ที่ถูกด่าจากสังคมเพียงเพราะเธอทำตัวนอกขนบ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีอย่างการที่เจ้าตัวถูกปล่อยคลิปหลุด ชาวเน็ตก็พร้อมจะออกมาซ้ำเติมและเหยียดหยามการแต่งตัวของเธอ โดยไม่สนใจว่าเจ้าทุกข์จะรู้สึกอย่างไรบ้าง

การอคติต่อเพศหญิงที่นำไปสู่การ Victim Blaming หรือการป้ายโทษให้กับเหยื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศ

“ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงโดนข่มขืน ก็แต่งตัวโป๊ซะขนาดนั้น”

“เห็นมั้ยบอกแล้วว่ายัยนี่น่ะแรดเงียบ เพราะแบบนี้ถึงได้โดนข่มขืนไง”

ข้อความเหล่านี้ล้วนมุ่งเน้นไปที่เหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นการลดทอนความผิดของผู้กระทำผิดอย่างแท้จริง นอกจากจะมีผลเสียทำให้ผู้เสียหายรู้สึกอับอายและตกเป็นจำเลยสังคมให้ชาวเน็ตซ้ำเติมแล้ว การโทษเหยื่อยังเป็นต้นเหตุของการฆ่าตัวตายของเหยื่อผู้ถูกละเมิดทางเพศอีกด้วย โดยพฤติกรรมของผู้ที่อคติเพศหญิง คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้น พวกเขาจะเริ่มไถ่ถามเกี่ยวกับการแต่งตัวของผู้เสียหายว่าวันนั้นเธอแต่งตัวอย่างไร และหากได้รับคำตอบว่าเหยื่อเป็นผู้หญิงในขนบ แต่งตัวมิดชิด เรียบร้อย ไม่มีเรื่องเสียหายใดๆก่อนหน้านี้ พวกเขาก็จะเริ่มพูดถึงการบอกให้เธอไปแจ้งความ โทษเคราะห์กรรมในอดีตของเธอ และกล่าวโทษว่าอาจเป็นเรื่องของเวรกรรมในอดีตชาติแทน

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังคงมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่เราสามารถลดเรื่องราวเหล่านี้ให้เกิดขึ้นน้อยลงได้ด้วยการเลือกใช้คำพูดและรู้จักเห็นใจเหยื่อผู้อื่น

โลกนี้ไม่ได้ยุติธรรมเช่นเดียวกับละครคุณธรรมขนาดนั้น

เราอาจถูกสั่งสอนมาตั้งแต่วัยเด็กว่า การทำดีนั้นนำไปสู่ความสุขแท้จริง ส่วนการทำชั่วนั้นจะนำเราไปสู่นรก เหมือนดั่งเช่นคำกล่าวอ้างว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เห็นได้จากตัวอย่างในวัยเด็กของหลายๆท่าน รวมไปถึงตัวผู้เขียนเอง ที่เมื่อเราทำดีแล้วพ่อแม่จะให้รางวัล แต่เมื่อเราทำอะไรไม่ดีก็จะถูกพ่อแม่ตีและดุว่า แต่แม้วัยเด็กของพวกเราจะเป็นเช่นนั้น พอเราได้เติบโตขึ้น เราก็ได้รับรู้ว่าโลกความเป็นจริงนั้นอาจไม่ง่ายดายอย่างนั้น ใช่ว่าผู้คนจะพยายามและได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ และเช่นเดียวกัน ใช่ว่าคนเราทำดีแล้วจะได้ดีกันหมด

หากผู้อ่านอยากทราบว่า แล้วความยุติธรรมของคำกล่าวอ้างนั้นเกี่ยวกับการโทษเหยื่ออย่างไร คุณก็คงเคยเห็นอีกเช่นเดียวกันนั่นแหละว่า ผู้โทษเหยื่อนั้นมักจะหาเหตุผลดีๆให้กับการโทษเหยื่อของตนเองเสมอ หากความเชื่อทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วนั้นถูกต้องสำหรับพวกเขา พวกเขาก็จะเริ่มขุดคุ้ยหาประวัติของเหยื่อ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาตีแผ่ และหาเหตุผลว่าเหยื่อเหล่านั้นเป็นคนผิดจนได้ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าบางทีความคิดทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องขนาดนั้น มันคงเป็นคำสอนที่หลอกเด็กมากกว่าหลอกผู้ใหญ่เสียอีก

ผู้หญิงในอุดมคติก็ไม่อาจรอดพ้นจากการถูกอคติ

ในบทความ “Why do women hate women?” ที่ฮิลารี โรว์แลนด์เขียนขึ้น ได้กล่าวถึงการที่ผู้หญิงสวยมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโรคต่างๆที่ทำให้สูญเสียรูปลักษณ์เดิม หรือการที่ดารานักแสดงอ้วนขึ้นเพราะทานอาหาร แน่นอนว่าแม้ว่าเธอเหล่านั้นจะเคยสวยตรงตามอุดมคติ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เธอถูกด่าได้อยู่ดี “ลดน้ำหนักบ้างนะ ปล่อยตัวเกิ๊น” หรือ คุณอาจคุ้นเคยกันดีกับการการที่นักแสดงสาวหลายคนถูกไซเบอร์บูลลี่เพราะศัลยกรรมพลาสติก ไม่เพียงเท่านั้น พวกเธอยังถูกลดทอนความสวยด้วยคำก่นด่าบนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยสารพัดคำด่า ยกตัวอย่างก็เช่น “สวยด้วยหน้าพลาสติก น่าภูมิใจตรงไหน”

ในบทความของฮิลารี โรวแลนด์ยังได้กล่าวถึงนักแสดงสาวแอชลีย์ จัดด์ ที่ตกเป็นจำเลยของชาวเน็ตเมื่อใบหน้าของเธอต้องป่องเพราะผลข้างเคียงของยาในภาพถ่าย ชาวเน็ตต่างพูดกันว่าเธอไปทำศัลยกรรมพลาสติกมาแน่ๆ ใบหน้าของเธอจึงเป็นอย่างนั้น นักแสดงสาวก็ได้ออกมาชี้แจงถึงปัญหาดังกล่าวให้ชาวเน็ตได้รู้ว่านั่นเกิดจากผลข้างเคียงของยาที่เธอได้ทานไป ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอยากตั้งคำถามว่า เพราะอะไรคนเราถึงเลือกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศัลยกรรมเป็นอันดับแรก ทั้งที่เราสามารถแสดงความเห็นใจคนอื่นได้โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ได้

แม้ว่าโลกจะไม่ได้ยุติธรรมเช่นเดียวกับโลกของละครคุณธรรมดังที่กล่าวไว้ ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วอาจเป็นคำกล่าวอ้างที่ดูโป้ปด แต่เราทุกคนสามารถสร้างโลกใหม่โดยไม่ตัดสินคนอื่นอย่างรวดเร็ว รู้จักเข้าใจและเห็นใจเหยื่อผู้ถูกกระทำ เข้าใจว่าไม่มีใครที่จะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง หากทุกคนพยายามทำความเข้าใจในสิ่งนี้ มันอาจส่งผลให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้ไม่มากก็น้อย สุดท้ายแล้วโลกจะเป็นอย่างไร เราทุกคนเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง ไม่ใช่ให้โลกเป็นผู้สร้างความยุติธรรมให้เรา

อ้างอิง:

https://www.urbanette.com

https://plus.thairath.co.th

https://www.psy.chula.ac.th

โดย: เบญจ์ บุญเจริญ

More From Author

+ There are no comments

Add yours